วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โวหารภาพพจน์


ภาพพจน์
ความหมาย
ภาพพจน์เป็นการใช้ถ้อยคำสำนวนโวหาร ที่ทำให้ผู้รับสารเกิดมโนภาพ  เกิดจินตนาการ ถ่ายทอดอารมณ์ ทำให้มีความรู้สึกร่วมตรงตามความปรารถนาของผู้ส่งสาร

ประเภทของภาพพจน์ภาพพจน์ที่ใช้ในการสื่อสารมีอยู่มากมายหลายประเภท ดังนี้




1.อุปมา (simile)
คือ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งที่โดยธรรมชาติแล้วมีสภาพที่แตกต่างกัน แต่มีลักษณะเด่น ร่วมกันและใช้คำที่มีความหมายว่า เหมือนหรือคล้ายเป็นคำแสดงการเปรียบเทียบเพื่อเน้นให้เห็นจริงว่า เหมือนอย่างไร ในลักษณะใด ได้แก่คำว่า เหมือน เสมือน ดัง ดั่ง คล้าย  ดูราว  เหมือนดั่ง ดุจ ประดุจ ประหนึ่ง ละม้าย เสมอ ปาน เพียง ราว ราวกับ พ่าง  เทียบ เทียม  เฉก เช่น ฯลฯ เป็นการกล่าว การเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนกันหรือต่างกันใช้คู่กับ อุปไมย อุปมา คือ สิ่งหรือข้อความที่ยกมากล่าวมาเปรียบ อุปไมย คือ สิ่งหรือข้อความที่พึงเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง 
 
ตัวอย่าง เช่น
 
 
-สวยเหมือนนางฟ้า-เงียบราวกับป่าช้า
-ร้องไห้ปานใจจะขาด-ชนเหมือนลิง
-ลูกคนนี้ละม้ายพ่อ-ดีใจเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ
-เธอว่ายน้ำเก่งเหมือนปลา-เพลงนี้ไพเราะราวกับเพลงจากสวรรค์
-มีความรู้เหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน-ดวงหน้านวลกระจ่างดุจดวงจันทร์
-ผมของเธอดำเหมือนความมืดแห่งราตรี      -เขาตะโกนเสียงดังดั่งฟ้าร้อง


2. อุปลักษณ์ (metaphor)
            คือการเปรียบเทียบด้วยการกล่าวว่าสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่กล่าวตรง ๆ   ใช้การกล่าวเป็นนัยให้เข้าใจเอง เป็นการเปรียบเทียบโดยนำเอาลักษณะ สำคัญของสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบ มาเปรียบเทียบทันทีโดยโดยไม่ต้องมีคำเชื่อมโยง ไม่ต้องใช้คำแสดงการเปรียบเทียบ  ไม่มีคำแสดงความหมายว่า เหมือน ปรากฏอยู่ หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ใช้คำว่า  “เป็น”  หรือ  “คือ”  อุปลักษณ์  เป็นการใช้ถ้อยคำภาษา ในเชิงการเปรียบเทียบที่มีชั้นเชิงและลึกซึ้งกว่าอุปมา   นิยมใช้กับ   ภาษ-หนังสือพิมพ์ เพราะใช้คำน้อย ได้ความมากเหมาะกับเนื้อที่อันจำกัด
 
 
ตัวอย่าง เช่น
 

-ปัญญาคือดาบสู้ดัสกร  
-ครู คือแม่พิมพ์ของชาติ
-ชีวิตคือการต่อสู้  ศัตรูคือยากำลัง  
-ลูกคือดวงตาดวงใจของพ่อแม่
-ครูเป็นแสงประทีปส่องทางให้ลูกศิษย์ 
เธอคือดอกฟ้าแต่ฉันนั้นคือหมาวัด      
-อูฐเป็นเรือของทะเลทราย
-กีฬาเป็นยาวิเศษ       
-เขาเป็นมือขวาของผู้อำนวยการทีเดียวนะ
-เขาเป็นสิงห์ทะเลทราย              
-เหยี่ยวข่าวกำลังบินว่อนอยู่แถวทำเนียบรัฐบาล
-ทหารเป็นรั้วของชาติ
-ทองกวาวทิ้งไร่นามาอยู่ป่าคอนกรีต              
-ใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง
-มโหรีจากราวป่ามาเรื่อยรี่
-เลือดในอกแท้ ๆ ยังทิ้งได้
-ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ    
-สวรรค์ในอก นรกในใจ


3. บุคลาธิษฐาน (personification)
       
             คือ  การสมมุติให้สิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด สิ่งที่เป็นนามธรรม หรือสัตว์ให้มีสติปัญญา   อารมณ์หรือกิริยาอาการ เหมือนมนุษย์เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นเกิดปรากฏการณ์เสมือนเป็น สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก นึกคิดขึ้นมา  แล้วสื่อความรู้สึกออกมาให้ผู้รับสารได้รับรู้เป็นการเปรียบเทียบโดยนำเอาสิ่งไม่มีชีวิต หรือมีชีวิต แต่ไม่ใช่คนมากล่าวถึงราว กับเป็นคน  หรือทำกิริยาอาการอย่างคน  “ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้สิ่งที่กล่าวถึง มีชีวิตชีวา ผู้รับสารจะมองเห็นภาพสิ่งนั้นเคลื่อนไหวทำกิริยาอาการเหมือนคนมีอารมณ์ มีความรู้สึก และสามารถสื่อความรู้สึกนั้นมาสู่ผู้รับสารได้” (นภาลัย  สุวรรณธาดา, 2533: 295)
 
 
ตัวอย่าง เช่น
 
 
 
-ฟ้าหัวเราะเยาะข้าชะตาหรือ                                          
-ซุงหลายท่อนนอนร้องไห้ที่ชายป่า
-ดาวกะพริบตาเยาะเราหรือดาวเอ๋ย                
-ตั๊กแตนโยงโย่  ผูกโบว์ทัดดอกจำปา
-จานและช้อนวิ่งกันขวักไขว่ไปทั่วห้องครัว    
-พระจันทร์ยิ้มทักทายกับหมู่ดาวบนท้องฟ้า
-เสียงรถไฟหวีดร้องครวญครางมาแต่ไกล
-พระจันทร์ยิ้มทักทายกับหมู่ดาวบนท้องฟ้า
-ต้นอ้อหยอกล้อกับสายลมอย่างสนุกสนาน
-เปลวไฟกลืนกินบ้านทั้งหลังเข้าไปอย่างหิวโหย
-ทะเลไม่เคยหลับใหล เธอตอบได้ไหม ไฉนจึงตื่น
-ความซื่อสัตย์ วิ่งพล่านอยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้


4. อติพจน์ (hyperbole)
              คือ การกล่าวเกินจริง ซึ่งเป็นความรู้สึกหรือความคิดของผู้กล่าวที่ต้องการย้ำความหมาย ให้ผู้ฟังรู้สึกว่าหนักแน่นจริงจัง   เน้นความรู้สึกให้เด่นชัดและน่าสนใจ โดยไม่เน้นความเป็นจริง เพราะต้องการ ให้ผู้รับ สารเกิดความซาบซึ้งและประทับใจ ซึ่งอาจจะมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ได้  เพื่อเน้นความ รู้สึกมากกว่า ความเป็นเหตุเป็นผล  มุ่งเร้าอารมณ์และความรู้สึกสะเทือนใจเป็นสำคัญ  ภาพพจน์ประเภทนี้นิยม ใช้สื่อสารกันมากทั้งการพูดและการเขียน  ที่ต้องการแสดงความรู้สึกเพราะสามารถเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ง่าย 
 
ตัวอย่าง เช่น
 
 
-ร้อนตับจะแตก
-คิดถึงใจจะขาด
-ไอ้หมัดทะลวงไส้
-เขาโกรธเธอจนอกระเบิด
-ฉันไม่มีเงินซักแดงเดียว
-ฉันหิวไส้จะขาดแล้วนะ
-อากาศร้อนจนแทบจะสุกอยู่แล้วสายเลือด
-พวกเราจะสู้จนเลือดหยดสุดท้าย
-หนาวกระดูกจะหลุด
-แหม รอตั้งโกฏิปีแล้ว
-การบินไทยรักคุณเท่าฟ้า     
-ลำบากเลือดตาแทบกระเด็น
-เหนื่อยสายตัวแทบขาด
-แม้จะเอาช้างมาฉุดฉันก็ไม่ไป   
-เธอร้องไห้น้ำตาจะเป็น
- คิดถึงเธอทุกลมหายใจเข้าออก

5. นามนัย (Metonymy) 
 
           คือ การเปรียบเทียบโดยการใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติที่เป็นจุดเด่น หรือลักษณะสำคัญ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  หรือการกล่าวถึงส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งใด ๆ  มากล่าวแทนคำที่ใช้เรียก สิ่งนั้นโดยตรง เป็นภาพพจน์ที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำธรรมดา ๆ ซ้ำซาก
 
 
ตัวอย่าง เช่น
 
 
  -ปากกาคมกว่าดาบ 
  -เขาเป็นกระต่ายที่หมายจันทร์
    (กระต่ายแทนชายหนุ่มฐานะต่ำต้อยจันทร์แทนผู้หญิงที่มีฐานะสูงส่ง)
   -เขาเป็นมือขวาของท่านนายกฯ (มือขวาแทนคนสนิทที่ไว้ใจ)
   -เขารักเก้าอี้ยิ่งกว่าชื่อเสียงเกียรติยศ (เก้าอี้แทนตำแหน่ง)
   -คนเราจะต้องต่อสู้ตั้งอยู่ในเปลจนไปสู่ป่าช้า (เปล แทนการเกิด, ป่าช้า แทนการตาย)
   -น้ำตา และรอยยิ้มอยู่คู่ชีวิตมนุษย์เสมอมา (น้ำตาแทนความทุกข์, รอยยิ้มแทนความสุข)
   -เลือดของวีรชนจะจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ตลอดไป (เลือด แทนการต่อสู้)
   -คนไทยไม่ยอมให้ใครมาทำลายขวานทองได้ (ขวานทองแทนประเทศไทย)
   -การจัดสรรงบประมาณควรให้ได้ไปสู่ระดับรากหญ้าจริง ๆ (รากหญ้าแทนประชาชนระดับล่าง)


6. อนุนามมัย (Synecdoche)
        คือ การกล่าวถึงส่วนย่อยที่มีลักษณะเด่นของสิ่งนั้น ๆ มากล่าวแทนสิ่งที่ต้องการกล่าวถึงทั้งหมด   เป็นการเปรียบเทียบโดยนำเอาลักษณะเด่นที่เป็นส่วนหนึ่งมากล่าวแทนทั้งหมด 
 
ตัวอย่าง เช่น
 
 
  
 
  -เขากินหมาก (หมาก หมายถึง หมากพลู ปูน และส่วนผสมอื่น ๆ)
   -เรื่องนี้ได้กลิ่นตุ ๆ ว่า คนมีสีอยู่เบื้องหลัง (คนมีสี หมายถึง ข้าราชการ)
  -มันสมองเหล่านี้มีค่าแก่ประเทศชาติอย่างยิ่ง (มันสมอง หมายถึง ปัญญาชน)       
   -มีการเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงให้ฉันทนา (ฉันทนา หมายถึง สาวโรงงาน)
   -เขามีหน้ามีตาในสังคมได้เพราะมีผู้มีอำนาจให้การสนับสนุน(มีหน้ามีตา หมายถึง มีเกียรติ)  
  -มือกฎหมาย
 ปฏิบัติการอย่างไม่เกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ(มือกฎหมายหมายถึง ผู้รักษากฎหมาย)
   -มือที่เปื้อนชอล์คยังคงมุ่งมั่นที่จะสานฝันให้เป็นจริง (มือที่เปื้อนชอล์ค หมายถึง ครู)


7.ปฏิพจน์ (paradox)
 
              คือ การใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือขัดแย้งกันมากล่าวร่วมกันได้อย่างกลมกลืนกัน ภาพพจน์ประเภทนี้ผู้รับสารจะต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ความหมาย หรือ ตีความจึงจะเข้าใจได้ดี
 
ตัวอย่าง เช่น
 
 
-ไฟเย็น
-เล็กดีรสโต
-ชัยชนะของผู้แพ้
-สันติภาพร้อน
-ยิ่งรีบก็ยิ่งช้า
-หัวเราะร่าน้ำตาริน
-ความขมขื่นอันหวานชื่น
-ไม้งามกระรอกเจาะ
-รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
-รักดีหามจั่ว รักชั่วเสา
-น้าร้อนปลาเป็นน้ำเย็นปลาตาย
-แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร
-เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
-ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน
-น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย
-ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด          
-เสียงกระซิบจากความเงียบ
-ชีวิตเต็มไปด้วยความว่างเปล่า


8. สัทพจน์ (onomatopoeia)
 
            คือ การใช้ถ้อยคำที่เลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงดนตรีเสียงร้องของสัตว์  หรือเลียนเสียงกิริยาอาการต่าง ๆ ของคน การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน จะช่วยสื่อให้ผู้รับสารรู้สึกเหมือนได้ยินเสียง โดยธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ และเห็นกิริยาอาการของสิ่งนั้น ๆ ด้วย
 
ตัวอย่าง เช่น
 
 
-ฝนตกแปะ ๆ       
-เปรี้ยง ๆ ดังเสียงฟ้าฟาด
-ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด                  
-บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว
- เครื่องบินครางกระหึ่มมาแต่ไกล
- เสียงคลื่นซ่าซัดสาดที่หาดทราย
-เสียงปืนดัง ปัง! ปัง! ขึ้นสองนัด    
-ยุงบินหึ่งหึง อยู่ข้างหูน่ารำคาญ
-อ้อยอี๋เอียง อ้อยอี๋เอียงส่งเสียงร้อง               
 -เจ๊กเฮงเดินลากเกี๊ยะแซะ ๆ ไปตลอดทาง
-ลมพัดกิ่งไม้ระหลังคาบ้านดังแกรกกรากน่ากลัว
-มันดังจอกโครมๆ มันดังจอก ๆ จอก ๆ โครม ๆ
-มันร้องดังกระโต้งโฮง มันดังกอก ๆ กอก ๆ 
กระโต้งโฮง
-น้ำพุพุ่งซ่า ไหลมาฉาดฉาน เห็นตระการ เสียงกังวาน
-เสียงลิงค่างบ่างชะนีวะหวีดโหวย  
กระหึ่มโหยห้อยไม้น่าใจหาย

9. ปฏิวาทะ (oxymoron) 
 
          คือ การใช้คำที่มีความหมายตรงกันข้ามกันหรือขัดแย้งกันมารวมไว้ด้วยกันเพื่อให้มีความหมาย ใหม่ หรือให้ความรู้สึก ขัดแย้งกัน หรือเพิ่มน้ำหนักให้แก่ความหมายของคำแรก
 
ตัวอย่าง เช่น
 
 
-คนในหมู่บ้านนี้กลมเกลียวกันมาก (หมายถึง ความสามัคคี)  
-แฟนของนายน่าอกใหญ่ฉิบหาย (หมายถึง หน้าอกใหญ่มาก)
-ลูกสาวของเขาช่างน่ารักน่าชัง (หมายถึง น่ารักน่าเอ็นดู)
-เดชทำคะแนนได้น้อยมาก (หมายถึง น้อยเหลือเกิน)
-เธอกำลังหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อยู่ (หมายถึง ข้อมูลที่เป็นจริง)
-คู่หมั้นของหล่อนดีเป็นบ้า (หมายถึง ดีมาก)
-แกแต่งตัวเท่ห์ฉิบหาย (หมายถึง เท่ห์มาก)
-เขาไม่เคยยินดียินร้ายฉันเลย (หมายถึง เอาใจใส่)
-บ้านหลังนี้ข้าหลับตาเห็นหมดแล้วว่าอะไรอยู่ตรงไหนเข้าไปได้เลย (หมายถึง จินตนาการ)


10.  สัญลักษณ์ (symbol)
         
          คือ การเปรียบเทียบที่เรียกสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยใช้คำอื่นแทน คำที่ใช้เรียกนั้นเกิดจากการเปรียบเทียบและ ตีความซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป  อาจเป็นคำ ๆ เดียว  ข้อความ  บุคคลในเรื่อง  เป็นเรื่อง เฉพาะตอน  หรือเรื่อง ๆ หนึ่งก็ได้   สัญลักษณ์ที่นิยมใช้มีดังนี้ 
 
ตัวอย่าง เช่น
 
 
-สีขาว   
หมายถึง
ความบริสุทธิ์
-สีดำ      
หมายถึง
ความตาย  ความโศกเศร้า  ความชั่วร้าย
-ดอกกุหลาบสีแดง
หมายถึง
ความรัก
-ดอกหญ้า
หมายถึง
ความต้อยต่ำ
-ดอกมะลิ
หมายถึง
ความบริสุทธิ์
-ดอกบัว
หมายถึง
พุทธศาสนา
-ดอกทานตะวัน  
หมายถึง
ความอบอุ่น ความรักและความสุข
-รวงข้าว
หมายถึง
ความอ่อนน้อมถ่อมตน
-หญ้าแพรก         
หมายถึง
ความงอกงามทางสติปัญญาและความรู้
-น้ำค้าง
หมายถึง
ความบริสุทธิ์
-สุนัขจิ้งจอก        
หมายถึง
คนเจ้าเล่ห์  คนที่ไม่น่าไว้วางใจ
-ลา         
หมายถึง
คนโง่  คนที่น่าสงสาร 
-ปีศาจ  แม่มด       
หมายถึง
ความชั่วร้าย
-นางฟ้า เทวดา    
หมายถึง
ความดีงาม
-นกขมิ้น
หมายถึง
ผู้ที่ร่อนเร่พเนจร
-ผึ้ง  มด 
หมายถึง
ความขยันอดทน
-เมฆ  หมอก
หมายถึง
อุปสรรค  ความเศร้า
-ฝน
หมายถึง
ความเมตตากรุณา  ความชุ่มฉ่ำสดชื่น
-ระฆัง
หมายถึง
ความมีเกียรติ  ความมีชื่อเสียง
-สมอ
หมายถึง
ทหารเรือ
-ตราชู   
หมายถึง
ความยุติธรรม
-มือไกวเปล
หมายถึง
แม่




พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช 1. พระราชประวัติ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับพระนางเสือง ทรงมีพระนามเดิมว่า ราม พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ของอาณาจักรสุโขทัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1822 ต่อจากพ่อขุนบานเมือง ซึ่งเป็นพระเชษฐา (พี่ชาย) 2. วีรกรรมสำคัญ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นกษัตริย์นักรบที่มีพระปรีชาสามารถในด้านการทำศึกสงครามตั้งแต่ยังไม่ได้ครองราชย์ ดังจะเห็นได้จากเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 19 พรรษา พระองค์ได้เสด็จตามพระราชบิดาไปทำสงครามแย่งชิงเมืองตากกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด และรบชนะขุนสามชน พระบิดาจึงเฉลิมพระนามให้ว่า รามคำแหง 3. พระราชกรณียกิจ อาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เนื่องมาจากพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ของพระองค์ ดังนี้ 1. ด้านการเมืองการปกครอง พระองค์ทรงใช้รูปแบบการปกครองแบบ พ่อปกครองลูก กล่าวคือ พระองค์ทรงดูแลเอาใจใส่ในทุกข์สุขของราษฎร์เหมือนพระองค์เป็นพ่อ ส่วนราษฎรหรือไพร่ฟ้าคือลูก เมื่อราษฎรมีเรื่องเดือดร้อนก็ให้มาสั่นกระดิ่งที่หน้าประตูวัง แล้วพระองค์ก็จะเสด็จออกมารับฟังเรื่องราว เพื่อทรงตัดสินปัญหาด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงทำสงครามขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางมากกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในสมัยสุโขทัย 2. ด้านเศรษฐกิจ พระองค์ทรงโปรดให้สร้างทำนบกักเก็บน้ำที่เรียกว่า ทำนบาพระร่วง หรือสรีดภงค์ เพื่อใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนี้ พระองค์ทรงให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการค้าขายได้อย่างมีอิสระเสรี ไม่มีการเก็บภาษีผ่านด่านจาการาษฎร ที่เรียกว่า จกอบ ทำให้การค้าขายขยายออกไปอย่างกว้างขวาง และทรงโปรดให้สร้างเตาเผาเครื่องสังคโลกเป็นจำนวนมาก เพื่อผลิตสินค้าออกไปขายยังดินแดนใกล้เคียง 3. ด้านศิลปวัฒนธรรม พระองค์ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ที่เรียกว่า ลายสือไทย และได้มีการรพัฒนามาเป็นลำดับจนถึงอักษรไทยในปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีอักษรไทยาใช้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยโปรดให้จารึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ สมัยสุโขทัยลงบนศิลา เมื่อ พ.ศ. 1826 เรียกว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นผู้นำในการสร้างศรัทธาให้ประชาชนเลื่อมใสในพระพุทธศานา พระองค์ทรงนิมนต์พระสงฆ์นิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ จากเมืองนครศรีธรรมราชที่กลับมาจากลังกา มาเผยแผ่คำสอนทางพระพุทธศาสนาแก่ราษฎร ซึ่งทำให้ชาวสุโขทัยเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและแสดงออกมาในรูปแบบศิลปกรรมด้านต่าง ๆ เช่น การสร้างพระพุทธรูป วัด เจดีย์ เป็นต้น ทำให้พระพุทธศาสนาวางรากฐานมั่นคงในอาณาจักรสุโขทัย จนกระทั่งกลายเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาจนถึงปัจจุบัน ที่มาและได้รับอนุญาตจาก : เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ . ประวัติศาสตร์ ป.4 . พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์
http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/1682-00/

วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

โวหารรสในวรรณคดีไทย

โวหารรสในวรรณคดีไทย

ห้ามลบ ขอให้เจ้าของผลงานประกวด แก้ไขข้อมูลได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เวลา 23.30 น.
หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ท่านเข้ามาแก้ไขข้อมูล ถือว่าโมฆะในการพิจารณาได้รับรางวัล
ซึ่งระบบของ Thaigoodview สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้น มีการแก้ไขเวลาใดบ้าง

ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล

โวหารรสในวรรณคดีไทย 
รสแห่งกาพย์กลอนไทยมี ๔ รส 
๑. เสาวรจนีย์ (บทชมโฉม) คือการเล่าชมความงามของตัวละครในเรื่อง ซึ่งอาจเป็นตัวละครที่เป็นมนุษย์ อมนุษย์ หรือสัตว์ซึ่งการชมนี้อาจจะเป็นการชมความเก่งกล้าของกษัตริย์ ความงามของปราสาทราชวังหรือความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่น บทชมโฉมนางมัทมา โดยท้าวชัยเสนรำพันไว้ ในวรรคดีเรื่องมัทนะพาธา
เสียงเจ้าสิเพรากว่า          ดุริยางคะดีดใน
ฟากฟ้าสุราลัย               สุรศัพทะเริงรมย์
ยามเดินบนเขินขัด          กละนัจจะน่าชม
กรายกรก็เร้ารม              ยะประหนึ่งระบำสรวย
ยามนั่งก็นั่งเรียบ            และระเบียบเขินขวย
แขนอ่อนฤเปรียบด้วย     ธนุก่งกระชับไว้
พิศโฉมและฟังเสียง      ละก็เพียงจะขาดใจ ...
                               (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
บทชมนางเงือก ซึ่งติดตามพ่อแม่มาเพื่อพาพระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร จากเรื่อง พระอภัยมณี
บทกษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย        ดูแช่มช้อยโฉมลาทั้งเผ้าผม
ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม    ทั้งเนื้อนมนวลเปลปงออกเต่งทรวง
ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด           ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง
พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง   แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป
                                                                    (สุนทรภู่)

เหลือบเห็นกวางขำดำขลับ          งามสรรพสะพรั่งดังเลขา
งามเขาเห็นเป็นกิ่งกาญจนา         งามตานิลรัตน์รูจี
คอก่งเป็นวงราววาด                  รูปสะอากราวนางสำอางศรี
เหลียวหน้ามาดูภูมี                   งามดังนารีชำเลืองอาย
ยามวิ่งลิ่วล้ำดังลมส่ง                ตัดตรงทุ่งพลันผันผาย
                                         (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

๒. นารีปราโมทย์ (บทเกี้ยว โอ้โลม) คือการกล่าวข้อความแสดงความรัก ทั้งที่เป็นการพบกันในระยะแรกๆ และในโอ้โลมปฏิโลมก่อนจะถึงบทสังวาสนั้นด้วย
ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร            ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้นเกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร               ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา
แม้นเนื้อเย็นเป็นห้วงมหรรณพ        พี่ขอพบศรีสวัสดิ์เป็นมัจฉา
แม้นเป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา              เชยผกาโกสุมปทุมทอง
เจ้าเป็นถ้ำไพขอให้พี่                   เป็นราชสีห์สมสู่เป็นคู่ครอง
จะติดตามทรามสงวนนวลละออง    เป็นคู่ครองพิศวาสทุกชาติไป
                                             (สุนทรภู่)

๓. พิโรธวาทัง(บทตัดพ้อ) คือการกล่าวข้อความแสดงอารมณ์ไม่พอใจ ตั้งแต่น้อยไปจนมาก จึงเริ่มตั้งแต่ ไม่พอใจ โกรธ ตัดพ้อ ประชดประชัน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เสียดสี และด่าว่าอย่างรุนแรง
น้ำใจนางเหมือนน้ำค้างบนไพรพฤกษ์    เมื่อยามดึกดังจะรองเข้าดื่มได้
ครั้งรุ่งแสงสุรีย์ฉายก็หายไป               เพิ่งเห็นใจเสียเมื่อใจจะขาดรอน
                                                 (ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง)
ครั้งนี้เสียรักก็ได้รู้                          ถึงเสียรู้ก็ได้เชาวน์ที่เฉาฉงน
เป็นชายหมิ่นชายต้องอายคน           จำจนจำจากอาลัยลาน
                                               (เจ้าพระยาพระคลัง(หน))
บทตัดพ้อที่แสดงทั้งอารมณ์รักและแค้นของ อังคาร กัลยาณพงศ์ จากบทกวี เสียเจ้า
จะเจ็บจำไปถึงปรโลก                  ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย                 อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ
                                            (อังคาร กัลยาณพงศ์)
บทตัดพ้อที่แทรกอารมณ์ขันของ  จากบทกวี ปากกับใจ
เมื่อรักกันไม่ได้ก็ไม่รัก                 ไม่เห็นจักเกรงการสถานไหน
ไม่รักเราเราจักไม่รักใคร               เอ๊ะน้ำตาเราไหลทำไมฤๅ
                                            (สุจิตต์ วงษ์เทศ)

๔. สัลลาปังคพิไสย(บทโศก) คือการกล่าวข้อความแสดงอารมณ์โศกเศร้า อาลัยรัก บทโศกของนางวันทอง ซึ่งคร่ำครวญอาลัยรักต้นไม่ในบางขุนช้าง อันแสดงให้เห็นว่านางไม่ต้องการตามขุนแผนไป แต่ที่ต้องไปเพราะขุนแผนร่ายมนต์สะกด ก่อนลานางได้ร่ำลาต้นไม้ก่อนจากไป จากเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี
ลำดวนเอยจะด่วนไปก่อนแล้ว                ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุ่นสี
จะโรยร้างห่างกลิ่นมาลี                จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ
                                            (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)
สุนทรภู่คร่ำครวญถึงรัชกาลที่2ซึ่งสวรรคตแล้ว เป็นเหตุให้สุนทรภู่ต้องตกระกำลำบาก เพราะไม่เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่3 ต้องระเห็ดเตร็ดเตร่ไปอาศัยในที่ต่างๆขณะล่องเรือผ่านพระราชวัง สุนทรภู่ซึ่งรำลึกความหลังก็คร่ำครวญอาลัยถึงอดีตที่เคยรุ่งเรืองจากนิราศภูเขาทอง
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ        ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา                  วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์
                                                (สุนทรภู่)

ฉันทลักษณ์

ฉันทลักษณ์
ฉันทลักษณ์ หมายถึง ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ไทย ซึ่งกำชัย ทองหล่อให้ความหมายไว้ว่า ฉันทลักษณ์ คือตำราที่ว่าด้วยวิธีร้อยกรองถ้อยคำหรือเรียบเรียงถ้อยคำให้เป็นระเบียบตามลักษณะบังคับและบัญญัติที่นักปราชญ์ได้ว่างเป็นแบบไว้ ถ้อยคำที่ร้อยกรองขึ้นตามลักษณะบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ เรียกว่า คำประพันธ์ และได้ให้ความหมายของ คำประพันธ์ คือถ้อยคำที่ได้ร้อยกรองหรือเรียบเรียงขึ้น โดยมีข้อบังคับ จำกัดคำและวรรคตอนให้รับสัมผัสกัน ไพเราะ ตามกฎเกณฑ์ที่ได้วางไว้ในฉันทลักษณ์ โดยแบ่งเป็น 7 ชนิด คือ โคลง ร่าย ลิลิต กลอน กาพย์ ฉันท์ กล ซึ่งก็คือ ร้อยกรองไทย นั่นเอง
ร้อยกรองไทยมีความหมาย 2 นัย นัยหนึ่งหมายถึงการแต่งหนังสือดีให้มีความไพเราะ อีกนัยหนึ่งหมายถึงถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบทบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายคำที่มีความหมายทำนองเดียวกัน เช่น กวีนิพนธ์ บทกวี บทประพันธ์ กวีวัจนะ ลำนำ บทกลอน กาพย์กลอน กลอนกานต์ กานต์ รวมทั้งคำว่าฉันท์ กาพย์และกลอนด้วย
โคลง เป็นคำประพันธ์ที่บังคับวรรณยุกต์ คือ เอก โท และบังคับสัมผัส มีหลักฐานอันควรเชื่อว่าเป็นคำประพันธ์พื้นเมืองไทยทางเหนือและอีสานก่อนจะแพร่หลายมายังภาคกลาง
 ร่าย เป็นร้อยกรองแบบหนึ่ง มีสี่ประเภทได้แก่ ร่ายยาว ร่ายสุภาพ ร่ายดั้น และร่ายโบราณ

         ร่ายยาว

Raiyao.jpg
ร่ายยาว คือ ร่ายที่ไม่กำหนดจำนวนคำในวรรคหนึ่ง ๆ แต่ละวรรคจึงอาจมีคำน้อยมากแตกต่างกันไป การสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกับคำหนึ่งคำใดในวรรคถัดไป จะแต่งสั้นยาวเท่าไรเมื่อจบนิยมลงท้ายด้วยคำว่า แล้วแล นั้นแล นี้เถิด โน้นเถิด ฉะนี้ ฉะนั้น ฯลฯ เป็นต้น
ตัวอย่าง โพธิสตฺโต สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ อันสร้างสมดึงส์ปรมัตถบารมี เมื่อจะรับวโรรัตนเรืองศรีแปดประการ แด่สำนักนิท้าวมัฆวานเทเวศร์ ก็ทูลแก่ท้าวสหัสเนตรฉะนี้
— กาพย์มหาชาติ สักรบรรพ

          ร่ายโบราณ

Raiboran.jpg
ร่ายโบราณ คือ ร่ายที่กำหนดให้วรรคหนึ่งมีคำห้าคำเป็นหลัก บทหนึ่งต้องแต่งให้มากกว่าห้าวรรคขึ้นไป การสัมผัส คำสุดท้ายของวรรคหน้าสัมผัสกับคำที่หนึ่ง สอง หรือสาม คำใดคำหนึ่งของวรรคถัดไป และยังกำหนดอีกว่า หากส่งด้วยคำเอก ต้องสัมผัสด้วยคำเอก คำโทก็ด้วยคำโท คำตายก็ด้วยคำตาย ในการจบบทนั้น ห้ามไม่ให้ใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์ประสมอยู่เป็นคำจบบท อาจจบด้วยถ้อยคำ และอาจแต่งให้มีสร้อยสลับวรรคก็ได้
ตัวอย่าง ...พระบาทเสด็จ บ มิช้า พลหัวหน้าพะกัน แกว่งตาวฟันฉฉาด แกว่งดาบฟาดฉฉัด ซ้องหอกซัดยยุ่ง ซ้องหอกพุ่งยย้าย ข้างซ้ายรบ บ มิคลา ข้างขวารบ บ มิแคล้ว แกล้วแลแกล้วชิงข้า กล้าแลกกล้าชิงขัน รุมกันพุ่งกันแทง เข้าต่อแย้งต่อยุทธ์ โห่อึงอุดเอาชัย เสียงปืนไฟกึกก้อง สะเทือนท้องพสุธา หน้าไม้ดาปืนดาษ ธนูสาดศรแผลง แข็งต่อแข็งง่าง้าง ช้างพะช้างชนกัน ม้าผกผันคลุกเคล้า เข้ารุกรวนทวนแทง รแรงเร่งมาหนา ถึงพิมพิสารครราช พระบาทขาดคอช้าง ขุนพลคว้างขวางรบ กันพระศพกษัตริย์ หนีเมื้อเมืองท่านไท้ ครั้นพระศพเข้าได้ ลั่นเขื่อนให้หับทวาร ท่านนา
ตัวอย่างแบบมีสร้อยสลับวรรค เจ้าเผือเหลือแผ่นดิน นะพี่ หลากระบิลในแหล่งหล้า นะพี่ บอกแล้วจะไว้หน้าแห่งใด นะพี่ ความอายใครช่วยได้ นะพี่ อายแก่คนไสร้ท่านหัว นะพี่ แหนงตัวตายดีกว่า นะพี่ สองพี่อย่าถามเผือ นะพี่ เจ็บเผื่อเหลือแห่งพร้อง โอเอ็นดูรักน้อง อย่าซ้ำจำตาย หนึ่งรา.
— ลิลิตพระลอ

           ร่ายดั้น


Raidan.jpg

ร่ายดั้น คือ ร่ายที่กำหนดคำในวรรคและการสัมผัสเหมือนร่ายโบราณ แต่ไม่เคร่งเรื่องการรับสัมผัสระหว่างชนิดคำ คือ คำเอกไม่จำเป็นต้องรับด้วยคำเอก เป็นต้น ส่วนการจบบท ใช้บาทที่สามและสี่ของโคลงดั้นมาปิดท้ายบท และอาจแต่งให้มีคำสร้อยสลับวรรคก็ได้
ตัวอย่าง ศรีสุนทรประฌาม งามด้วยเบญจพิธ องค์ประดิษฐ์อุตดม อัญขยมประจงถวาย พร้อมด้วยกายวาจาจิต...มวลมารพ่ายแพ้สูญ สิ้นเสร็จ ทรงพระคุณล้ำล้น เลิศครู
— ลิลิตดั้นมาตาปิตุคุณคาถาบรรยาย - พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)

           ร่ายสุภาพ

Raisuphap.jpg
ร่ายสุภาพ คือ ร่ายที่กำหนดคำในวรรคและการสัมผัสเหมือนร่ายดั้นทุกประการ ส่วนการจบบท ใช้โคลงสองสุภาพจบ และนิยมมีคำสร้อยปิดท้ายด้วย และอาจแต่งให้มีคำสร้อยสลับวรรคก็ได้
ตัวอย่าง สรวมสวัสดิวิชัย เกริกกรุงไกรเกรียงยศ เกียรติปรากฏขจรขจาย สบายทั่วแหล่งหล้า ฝนฟ้าฉ่ำชุ่มชล ไพศรพณ์ผลพูนเพิ่ม เหิมใจราษฎร์บำเทิง...ประเทศสยามชื่นช้อย ทุกข์ขุกเข็ญใหญ่น้อย นาศไร้แรงเกษม โสตเทอญ
— ลิลิตนิทราชาคริต - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
ลิลิต หมายถึง หนังสือที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภท โคลง และร่าย สลับกันเป็นช่วงๆ ตามธรรมเนียมแล้ว มักจะใช้โคลงและร่ายในแบบเดียวกัน กล่าวคือ โคลงดั้น สลับกับร่ายดั้น, โคลงสุภาพ สลับกับร่ายสุภาพ อย่างนี้เป็นต้น โคลงและร่ายที่สลับกันนั้น มักจะร้อยสัมผัสด้วยกัน เรียกว่า "เข้าลิลิต"
วรรณคดีที่แต่งตามแบบแผนลิลิต มักจะใช้ร่ายและโคลงสลับกันเป็นช่วงๆ ตามจังหวะ ลีลา และท่วงทำนอง และความเหมาะสมของเนื้อหาในช่วงนั้นๆ
ลิลิตที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดของโคลงลิลิต คือ ลิลิตพระลอ
กลอน เป็นลักษณะคำประพันธ์ไทยที่ฉันทลักษณ์ประกอบด้วยลักษณะบังคับ 3 ประการคือ คณะ จำนวนคำ และสัมผัส ไม่มีบังคับเอกโทและครุลหุ เชื่อกันว่าเป็นคำประพันธ์ท้องถิ่นของไทยแถบภาคกลางและภาคใต้ โดยพิจารณาจากหลักฐานในวรรณกรรมทั้งวรรณกรรมลายลักษณ์(เป็นตัวหนังสือ) และวรรณกรรมมุขปาฐะ(เป็นคำพูดที่บอกต่อกันมาไม่มีการจดบันทึก) โดยวรรณกรรมที่แต่งด้วยกลอนเก่าแก่ที่สุดคือ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา และเพลงยาว ณ พระที่นั่งจันทรพิศาล กวีแต่งในสมัยอยุธยาตอนปลาย ก่อนหน้านั้นกลอนคงอยู่ในรูปแบบวรรณกรรมมุขปาฐะเป็นร้อยกรองชาวบ้านเช่น บทร้องเล่น บทกล่อมเด็ก เพลงชาวบ้าน เป็นต้น
กลอนมารุ่งเรืองในยุครัตนโสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีกวีสำคัญๆ ได้แก่ องค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สุนทรภู่ กรมหลวงวรวงศาธิราชสนิท ฯลฯ โดยเฉพาะสุนทรภู่ เป็นกวีที่ทำให้ฉันทลักษณ์กลอนพัฒนาถึงระดับสูงสุด มีความลงตัวทางฉันทลักษณ์ทำให้กลอนลีลาแบบสุนทรภู่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแบบฉบับของกลอนที่ไพเราะที่สุดและนิยมแต่งจนถึงปัจจุบัน
กาพย์ เป็นคำประพันธ์ชนิดหนึ่งที่บังคับจำนวนคำและสัมผัส จัดวรรคต่างจากกลอนและไม่บังคับเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค ไม่มีบังคับเอก-โทเหมือนโคลง และไม่มีบังคับครุและลหุเหมือนฉันท์
ฉันท์ เป็นลักษณ์หนึ่งของร้อยกรองในภาษาไทย ที่บังคับเสียงหนัก - เบาของพยางค์ ที่เรียกว่า ครุ - ลหุ ฉันท์ในภาษาไทยรับแบบมาจากประเทศอินเดีย ตำราฉันท์ที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดียเป็นภาษาสันสกฤต คือ ปิงคลฉันทศาสตร์ แต่งโดยปิงคลาจารย์ ส่วนตำราฉันท์ภาษาบาลีเล่มสำคัญที่สุดได้แก่ คัมภีร์วุตโตทัยปกรณ์ ผู้แต่งคือ พระสังฆรักขิตมหาสามี เถระชาวลังกา แต่งเมื่อ พ.ศ. 1703 เป็นที่มาของ คัมภีร์วุตโตทัย ซึ่งเป็นต้นตำหรับการแต่งฉันท์ของไทย เมื่อคัมภีร์วุตโตทัยแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย กวีจึงได้ปรับปรุงให้เหมาะกับขนบร้อยกรองไทย เช่น จัดวรรค เพิ่มสัมผัส และเปลี่ยนลักษณะครุ-ลหุแตกต่างไปเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความไพเราะของภาษาไทยลงไป
ฉันท์ ในคัมภีร์วุตโตทัยได้แปลงเป็นฉันท์ไทยครบทั้ง 108 ชนิด ในสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยนายฉันท์ ขำวิไล เป็นผู้ดัดแปลงเพิ่มเติมจนครบถ้วนและจัดพิมพ์รวมเล่มทั้งหมดในปี พ.ศ. 2474 ใช้ชื่อว่า ฉันทศาสตร์
นอกเหนือจากฉันท์ทั้ง 108 ชนิดดังกล่าวแล้ว กวีได้ทดลองประดิษฐ์ฉันท์ในรูปแบบใหม่ ๆ โดยดัดแปลงจากฉันท์เดิมบ้าง โดยเลียนเสียงเครื่องดนตรีบ้าง หรือโดยแรงบันดาลใจจากฉันท์ต่างประเทศ หรือชื่อบุคคลสำคัญบ้าง อย่างไรก็ตาม ฉันท์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ล้วนจัดอยู่ในประเภทฉันท์วรรณพฤติทั้งสิ้น
กลบท คือการประดิษฐ์คิดแต่งคำประพันธ์ให้มีลักษณะแปลกไปจากเดิม โดยที่ลักษณะบังคับของคำประพันธ์ชนิดนั้นยังอยู่ครบถ้วน คำประพันธ์ที่แต่งเป็นกลได้มีทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย
กลบทเป็นเครื่องแสดงสติปัญญาของกวีในการที่จะคิดค้นพลิกแพลงกวีนิพนธ์แบบฉบับให้มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษขึ้น โดยการเพิ่มลักษณะบังคับต่าง ๆ และเป็นเครื่องลับสมองลองปัญญาในหมู่กวีด้วยกัน ในการที่จะพยายามถอดรูปกลแบบที่ซ่อนไว้ให้สำเร็จ ผลพลอยได้คือความไพเราะของกวีนิพนธ์ แต่ก็มีกลบทจำนวนไม่น้อยที่ไพเราะสู้คำประพันธ์ธรรมาดาไม่ได้ เนื่องจากลักษณะบังคับที่เพิ่มมาอาจจะไม่เอื้ออำนวยต่อความไพเราะ ตัวอย่าง เช่นกลบทบังคับใช้คำตายทุกคำ เป็นต้น

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557